Blockchain คืออะไร
เคยได้ยิน หรือได้เห็นคำว่า Blockchain ผ่านหู ผ่านตากันบ้างรึเปล่าครับ? พูดตามตรง ความจริงแล้วผมก็เห็นคำนี้มาพักใหญ่แล้ว อีกทั้งก็เคยใช้งาน Blockchain มาก่อน แต่เพิ่งจะได้เริ่มศึกษามันจริง ๆ จัง ๆ ในช่วงปีที่แล้วเองครับ ไม่แน่นะ ว่าคุณอาจจะเคยใช้หรือข้องเกี่ยวกับ Blockchain แม้ว่าจะยังไม่รู้ว่ามันเรียกว่าอะไรก็เป็นได้
Blockchain คืออะไร?
หากเป็นสมัยก่อนนั้น เวลาที่เราจะทำธุรกรรมทางการเงิน โดยส่วนมากก็จะต้องผ่านตัวกลางถูกมั้ยล่ะครับ และในขณะที่เราทำธุรกรรมในลักษณะผ่านตัวกลางมาเป็นเวลานาน ก็เกิดแนวคิดที่ว่า มันจะดีกว่า และปลอดภัยกว่าไหม หากว่าเราสามารถทำธุรกรรมทางการเงินได้ด้วยตัวเอง โดยไม่อาศัยบุคคลที่สาม ซึ่งนั่นก็คือต้นกำเนิดของเทคโนโลยี Blockchain นั่นเอง
แล้วทำไมถึงตั้งชื่อว่า Blockchain ล่ะ?
คำตอบก็คือ เพราะชื่อนี้เรียกตามลักษณะการทำงานของมันนั่นเองครับ Blockchain จะมีโครงสร้างเหมือนสายโซ่ (Chain) ที่เชื่อมโยง และแชร์ข้อมูลต่าง ๆ โดยที่ข้อมูลจะถูกบันทึกไว้อย่างแม่นยำ ยากต่อการเปลี่ยนแปลงแก้ไข ดังนั้นจึงเรียกว่า Blockchain นั่นเอง
Blockchain กับธุรกรรมทางการเงิน
การใช้ Blockchain ได้รับความนิยมอย่างมากจากการมีสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) หรือ คริปโต นั่นเองครับ เช่น Bitcoin, Ripple,Litecoin เป็นต้น ซึ่งเวลาเราทำธุรกรรมด้วยสกุลเงิน Bitcoin ก็จะมีรหัส Token ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสื่อสารกับ Blockchain โดยตรง เท่ากับว่าการทำธุรกรรมครั้งนี้ หรือ Blockchain นั้น ไม่ได้ผ่านตัวกลางอย่างสถาบันทางการเงินในโลกจริง ๆ อีกต่อไป แต่เป็นธุรกรรมทางตรงที่เกิดขึ้นในโลกอินเทอร์เน็ต ซึ่งทำให้มีความรวดเร็ว และลดต้นทุนในการทำธุรกรรมลงนั่นเอง ซึ่งการทำธุรกรรมด้วยคริปโตผ่านเทคโนโลยีเครือข่าย Blockchain ก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก และในอนาคต หากมีการพัฒนาต่อไปให้ดีขึ้น เข้าถึงได้กว้างขวางขึ้น ก็เป็นไปได้ที่ในยุคสมัยถัดไปข้างหน้า เราอาจจะทำธุรกรรมทางการเงินได้โดยสมบูรณ์โดยไม่ต้องพึ่งพาตัวกลางใด ๆ อีกเลยก็เป็นได้
Blockchain ที่เป็นมากกว่าแค่การทำธุรกรรมทางการเงิน
อย่างที่กล่าวไปครับว่า Blockchain นั้น เป็นเทคโนโลยีที่สามารถจัดเก็บข้อมูลได้ด้วย ทั้งยังทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ยากมาก ทำให้เทคโนโลยีนี้ยังถูกนำไปใช้ในงานอื่น ๆ นอกจากการทำธุรกรรมทางการเงิน เช่น การเก็บสถิติต่าง ๆ การเก็บผลโหวตการเลือกตั้ง เพื่อให้เกิดความโปร่งใสมากยิ่งขึ้นนั่นเอง (ซึ่งก็น่าเสียดายเล็ก ๆ ที่ประเทศเรายังไม่มีการเก็บสถิติที่โปร่งใสเท่านี้ครับ)
และนี่ก็คือเรื่องราวหลัก ๆ ของเทคโนโลยี Blockchain ครับผม เป็นยังไงกันบ้าง ทุกท่านเคยได้ใช้งานเจ้า Blockchain กันบ้างรึเปล่า? ไม่แน่ว่าในอนาคตเทคโนโลยีนี้อาจจะพัฒนาไปไกล จนเราสามารถทำธุรกรรมแทบทุกอย่างในเครือข่ายนี้ก็เป็นได้