ทำไมการเก็บเงินถึงทำให้เรามีเงินน้อยลง?
สวัสดีครับ ดูจากชื่อหัวข้อบทความแล้วนั้น อาจจะฟังดูแปลก ๆ และชวนสงสัยอยู่บ้างใช่ไหมครับ ว่าการที่เราเก็บเงินนั้น จะเป็นการที่ทำให้เงินของเราน้อยลงได้อย่างไร?
อันที่จริงแล้ว สมัยที่ผมเคยได้ยินเพื่อนพูดว่า “เอาเงินไปเก็บเฉย ๆ มันขาดทุนนะ” นั้น ผมเองก็สงสัยเช่นกัน ว่า เฮ้ย เราเอาเงินไปเก็บเนี่ย เงินก็อยู่ของมันเฉย ๆ มันจะทำให้เงินของเราเหลือน้อยลงได้อย่างไรล่ะ? แถมถ้าเอาไปฝากในธนาคาร เราก็ยังได้ดอกเบี้ยอีกด้วย ดังนั้น ผมแทบจะนึกไม่ออกเลยล่ะ ว่าการที่เก็บเงินไว้เฉย ๆ นั้น จะทำให้มูลค่าของเงินน้อยลงได้อย่างไร เอาล่ะ เรามาดูกันดีกว่าครับ ว่าทำไมถึงมีคำพูดแบบนั้น
ทำไมเงินเก็บของเราถึงมูลค่าน้อยลง?
ผมเชื่อว่าหลาย ๆ คนต้องเคยได้ยินคำว่าเงินเฟ้อ ถูกไหมครับ และที่ผมจะบอกก็คือ เจ้าเงินเฟ้อนี่แหละ ที่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เงินเก็บของเราน้อยลงครับ ลองนึกย้อนดูแบบกว้าง ๆ นะครับ ว่าในสมัยก่อน เงินจำนวน 5 บาท ก็สามารถซื้ออาหารได้หนึ่งมื้อแล้ว แต่ลองนึกดูทุกวันนี้ 5 บาทกลายเป็นจำนวนเงินที่ซื้อข้าวทานไม่ได้แล้วครับ นั่นเป็นเพราะมูลค่าของเงินมันน้อยลงนั่นเอง ซึ่งนี่ก็คือพลังของสิ่งที่ชื่อว่าเงินเฟ้อครับ
ใช่แล้ว… ผมว่าทุกท่านอาจจะพอนึกภาพออกแล้วใช่ไหมครับ ลองคิดภาพที่เราเคยมีเงิน 100 บาท เอาไปฝากธนาคาร หรือเก็บเอาไว้ พอเวลาผ่านไปนาน ๆ เข้า ค่าเงินเฟ้อก็ทำให้เงินที่เราเก็บเอาไว้มีมูลค่าน้อยลง ถึงแม้จะบวกกับดอกเบี้ย (ซึ่งน้อยเหลือเกิน) แล้ว มูลค่าของเงินที่เราเก็บไว้ก็ยังน้อยลงอยู่ดีนั่นเองครับ
ด้วยเหตุนี้ การที่เราเก็บเงินเพียงอย่างเดียว ถึงทำให้เรามีเงินน้อยลงได้นั่นเองครับ เพราะอัตราเงินเฟ้อของประเทศเรานั้น ก็มีแต่แนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น ดังนั้น เราจึงควรจัดสรรเงินดี เช่น การออมบางส่วน และนำไปลงทุนบางส่วนด้วยนั่นเองครับ