ใบที่ปลิดปลิว : โลกของคนที่แปลกแยก
วันนี้มาแปลกเสียหน่อย เพราะผมไม่ได้มาในเรื่องของฟอเร็กซ์ แต่กลับมาในเรื่องของละครที่กำลังน่าจะฮิตที่สุดในขณะนี้ อย่าง ใบไม้ที่ปลิดปลิวครับ
ช่วงนี้ผมเพิ่งเห็นโฆษณาละครเรื่อง “ใบไม้ที่ปลิดปลิว” อยู่บ่อย ๆ ครับ และนั่นทำให้ผมหวนคิดถึงสมัยที่ยังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยอยู่ เมื่อชั้นปี 1 วิชาที่เรียนยังไม่ได้แยกสายไปตามคณะ ผมก็มีเรียนพวกวิชาคล้าย ๆ วรรณกรรมภาษาไทยอะไรสักอย่างหนึ่ง ที่อาจารย์มีสั่งงานให้อ่านนวนิยายไทยหนึ่งเรื่องแล้วนำมาวิเคราะห์ ในตอนนั้นผมเองก็ลืมไปแล้วว่าเพราะอะไร ผมถึงได้ไปหยิบหนังสืออย่าง ใบไม้ที่ปลิดปลิว มาอ่าน
ใบไม้ที่ปลิดปลิว เป็นนวนิยายของนักเขียนชาวไทยที่ได้ชื่อว่าอมตะนิรันด์กาลอย่างคุณทมยันตี เรื่องราวของใบไม้ที่ปลิดปลิวนั้น ก็เกี่ยวกับตัวเอกที่ชื่อนิรา นิราเธอมีความแตกต่างจากคนทั่วไป เพราะเธอไม่ใช่ผู้หญิงแท้ ๆ แต่ว่าเป็นสตรีข้ามเพศ หรือ ทรานซ์เจนเดอร์นั่นเอง
ทำไม ใบไม้ ถึงต้องปลิดปลิว
หากเป็นปัจจุบันนี้ การจะเป็นสาวประเภทสองก็ไม่ใช่เรื่องที่สังคมไม่ยอมรับแต่อย่างใด แต่ทว่าฉากหลังของเรื่องใบไม้ที่ปลิดปลิว เป็นสังคมไทยในยุคหลายสิบปีก่อน ที่โลกยังไม่ได้เปิดกว้าง ดังนั้นแล้ว เรื่องราวภายในนวนิยายใบไม้ที่ปลิดปลิว นางเอกของเรื่องอย่างนิรา จึงต้องเผชิญกับชะตากรรมที่น่าเศร้าหลายอย่าง เธอเกิดมาด้วยจิตใจของผู้หญิง แต่กลับติดอยู่ในร่างของผู้ชาย เรื่องราวยิ่งแย่กว่านั้นคือเธอเกิดในครอบครัวที่มีปัญหาเสียด้วย จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้พ่อแม่ของเธอแยกทางกัน นิราจึงได้สานฝันในการแปลงเพศเป็นผู้หญิงเต็มตัวเสียที
อย่างไรก็ตาม ผมว่าความน่าเศร้าของเรื่องนี้อยู่ตรงที่ตัวละครอย่างนิรานั้นมีความยึดติดกับอดีตมากเกินไป เธอมีสภาพจิตใจที่เปราะบาง แม้จะแปลงโฉมมาจนสวยงาม มีคนรัก มีคนห่วงใยอย่างแท้จริง แต่นิราเองกลับมองผ่านสิ่งเหล่านั้นไป เพราะต้องการแก้แค้น และต้องการการยอมรับจากคน ๆ เดียวนอกจากแม่ที่เคยเป็นห่วงเธอในสมัยเด็กมาก่อน นั่นก็คือคุณอาของเธอนั่นเอง
นิราเป็นเสมือนคน ๆ หนึ่งที่แปลกแยก อยู่ในโลกที่เธอเป็นตัวประหลาด แน่นอนว่าโลกใบนี้ คนส่วนมากไม่ยอมรับคนที่แปลกแยกครับ ไม่ว่าจะเป็น LGBTQ หรือกระทั่งคนที่มีความคิดเห็นแย้งจากเสียงส่วนใหญ่ ก็จะถูกสังคมมองว่าประหลาด ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่น่าเศร้าใจอย่างยิ่ง โดยเฉพาะสังคมในยุคของใบไม้ที่ปลิดปลิว เป็นสังคมไทยสมัยเก่าที่เรื่องเพศยังคงละเอียดอ่อน ดังนั้น ตัวตนอย่างนิราจึงเป็นสิ่งที่สังคมยอมรับไม่ได้ และท้ายที่สุด เธอก็หนีไม่พ้นกับชะตากรรมเลวร้ายเช่นเดียวกับตัวละครที่เป็น LGBTQ ในนวนิยายสมัยนั้น ที่ถูกกำหนดให้จบอย่างน่าเศร้าเสมอ ราวกับว่าการเป็นคนแปลกแยกไปจากสังคมไม่มีสิทธิ์จะมีชีวิตที่มีความสุขอย่างไรอย่างนั้น
ใบไม้นั้น ต่อให้สวยงามอย่างไรก็เป็นเพียงใบไม้ ไม่สามารถกลายเป็นดอกไม้ได้ ความน่าเสียดายก็คือ แม้จะมีคนที่รักและห่วงใยใบไม้นั้น แต่เจ้าใบไม้กลับยังคงยึดติดกับเพียงมายาของดอกไม้ ความทรงจำอันหอมหวานอ่อนจางในอดีต มองข้ามความปรารถนาดีที่อยู่ข้างกาย กระโจนลงไปกลางพายุฝน และท้ายที่สุด ก็เป็นได้เพียงใบไม้ที่ผลิดปลิวไปท่ามกางความวุ่นวายเหล่านั้น หายไปไม่เหลือแม้เพียงชื่อสมกับนามนิรา…
อันที่จริง บริบทของสังคมไทยในยุคนี้ก็เปลี่ยนแปลงไปมาก และเรื่องของกลุ่ม LGBTQ ที่อยู่ในนวนิยาย ภาพยนต์ และอุตสาหกรรมบันเทิงต่าง ๆ ในปัจจุบัน ก็เป็นเรื่องที่ขายดีไม่น้อย เพราะแค่ผมเดินเข้าไปร้านหนังสือ ก็เจอนิยายพวกนี้เกลื่อนแผงแล้วครับ ยังไม่นับ “ซีรี่ย์วายไทย” ที่ไปดังไกลและทำเงินนอกประเทศอีกมากมายหลายเรื่อง ดังนั้น ลึก ๆ แล้ว ผมเองก็หวังเหลือเกินว่า อาจจะได้เห็นตอนจบของนิราที่สามารถมีความสุขได้อย่างแท้จริง ไม่ต้องเป็นเพียงใบไม้ที่ปลิดปลิว