Social Movement ยุคใหม่ กับ “ม็อบทวิตเตอร์”
เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศไทยของเรานั้น ผ่านเหตุการณ์ที่มีการเคลื่อนไหวทางสังคมจากเหล่าประชาชนที่ออกมาเรียกร้อง แสดงความคิดเห็น หรือจุดยืนต่าง ๆ ของพวกตนมาหลายต่อหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นในลักษณะของการชุมนุม การแสดงสัญลักษณ์ หรือการแฟรชม็อบ (การชุมนุมระยะสั้น และสลายตัวอย่างรวดเร็ว) ก็ตาม และที่ผ่านมาไม่นานนี้ ก็เกิดการเคลื่อนไหวของ “เยาวชนปลดแอก” ขึ้นครับ
Social Movement คืออะไร? และทำไมนี่จึงเป็นยุคของ Social Movement?
Social Movement หรือที่ในภาษาไทยจะเรียกว่า “การเคลื่อนไหวทางสังคม” นั้น เป็นปฏิบัติการของกลุ่มคนที่มีเป้าหมายเดียวกัน คือ ต้องการเปลี่ยนแปลงสังคมที่พวกเขาอาศัยอยู่ในประเด็นต่างๆ เช่น การเมือง สิ่งแวดล้อม เชื้อชาติ สิทธิผู้หญิง LGBT โรคเอดส์ คนพิการ ฯลฯ (ที่มา – amnesty)
โดยในปัจจุบันนี้ การเกิด Social Movement นั้น ง่ายขึ้นมาก ๆ เพราะหากลองนึกย้อนไปเมื่อยี่สิบ สามสิบปีก่อน ซึ่งยังไม่มีสมาร์ทโฟน หรืออินเทอร์เน็ตยังไม่แพร่หลาย ทำให้เวลาที่จะนัดหมายคนหมู่มาก จะต้องอาศัยการป่าวประกาศในองค์กร การใช้จดหมาย หรือโทรเลข ซึ่งค่อนข้างล่าช้า รวมถึงข่าวสารต่าง ๆ ที่จะเข้าถึงเฉพาะกลุ่มที่เป็นผู้นำเท่านั้น แต่ไม่สามารถกระจายไปสู่ทุก ๆ คนได้ อันเนื่องมาจากข้อจำกัดด้านวิธีการและเทคโนโลยีในการสื่อสารนั่นเองครับ
อย่างไรก็ตาม เมื่อเราอยู่ในยุคแห่งอินเทอร์เน็ต ซึ่งเชื่อมผู้คนเข้าไว้ด้วยกันโดยไร้พรมแดน ทำให้การแจ้งข่าวสาร และเจตจำนงในการจัดการเคลื่อนไหวทางสังคมนั้นกลายเป็นเรื่องง่าย ดูจากการที่กลุ่มเยาวชนปลดแอกนั้น สามารถรวมตัวกันร่วมสร้างกิจกรรมการเคลื่อนไหวทางสังคมนี้ได้ ผ่านการประกาศ นัดหมาย และสื่อสารกันในโลกออนไลน์นั่นเองครับ เห็นได้จากแทคทวิตเตอร์ที่ร้อนแรงมากกว่าห้าล้านทวิต ทำให้เราอาจจะกล่าวได้ว่า นี่คือม็อบทวิตเตอร์ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์เลยก็ได้ครับ
สุดท้ายนี้ ผมไม่ทราบว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง แต่หวังว่าทุกท่านที่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นคนกลุ่มไหนก็ตาม ดำเนินกิจกรรมไปด้วยความสงบเรียบร้อย ปลอดภัย เคารพในความคิดเห็น และแน่นอนว่าคงไม่มีใครอยากเห็นรัฐบาลหันปืนเข้าสู่ประชาชนครับ เพราะถ้าหากใครต้องการเช่นนั้น คุณเป็นคนที่ไม่เห็นสิทธิมนุษยชนในสายตา และหากว่ารัฐทำเช่นนั้น ท่านก็ไม่ควรได้ชื่อว่าเป็นรัฐบาลอีกต่อไป